พัฒนา Logistics ไทย...ช้าไม่ได้แล้ว

พัฒนา Logistics ไทย...ช้าไม่ได้แล้ว

           
           การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย นอกเหนือจากพัฒนาเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน Mega Project คือ ท่าเรือ ถนน สนามบิน ฯลฯ หรือการปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัย หรือเน้นการเรียนการสอน ซึ่งยังไม่เพียงพอ จะเห็นได้ว่าระดับการพัฒนาโลจิสติกส์ของไทยยังวนเวียนอยู่ในกับดัก คือมีการฝึกอบรม สัมมนา ดูงาน จ้างทำวิจัย และนำผลของการวิจัยมาสัมมนาใหม่ ก็หมุนเวียนกันแบบนี้มาเกือบ 2 ปี มีการใช้งบประมาณในเรื่องนี้กันมาก เมื่อไม่รู้จะพัฒนาอย่างไรก็ทำวิจัยไว้ก่อน
  
            ปีๆ หนึ่งเสียงบพวกนี้เป็นพันล้านบาท บางครั้งก็จัดทำ KPI มาหลอกกันเองก็มี ดังนั้นการพัฒนาจะต้องมีกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ทำในปัจจุบัน เนื่องจากกิจกรรมของโลจิสติกส์เกี่ยวกับการเคลื่อนย้าย ส่วนใหญ่จึงเข้าใจและเหมาเอาว่าโลจิสติกส์เกี่ยวข้องกับรถเทลเลอร์และรถสิบล้อ คือ มองว่าโลจิสติกส์เป็นเรื่องของการขนส่งเท่านั้น ซึ่งกิจกรรม logistics นอกจากจะเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงระบบขนส่งแล้วยังครอบคลุมเกือบทุกกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการคาดคะเนความต้องการ (demand driven) กระบวนการจัดซื้อ-จัดหา การวางแผนการผลิตแบบเท่าที่มีการส่งมอบ หรือเรียกว่า lean production  รวมถึงกิจกรรมเกี่ยวกับสต็อก การเก็บรักษาสินค้า และการกระจายสินค้าแบบทันเวลา (just in time delivery) ซึ่งทั้งหมดเป็นความหมายขั้นพื้นฐานของโลจิสติกส์  การพัฒนาโลจิสติกส์ทั้งในระดับมหภาคและในระดับธุรกิจ ถ้ายังไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ก็ให้เริ่มต้นที่พัฒนากิจกรรมขนส่ง ซึ่งทำได้ง่ายและเป็นต้นทุนหลักของโลจิสติกส์ ทั้งนี้ผู้ประกอบการทั้งผู้ใช้และผู้ให้บริการขนส่งทั้งระดับ medium หรือ SMEs (รวมถึงพวก large scale) ของไทย 90% ไม่ได้ให้ความสำคัญการจัดการขนส่งในฐานะที่เป็นกระบวนการของ logistics โดยมองว่า การขนส่งเป็นเรื่องของการเอาสินค้าใส่รถบรรทุก แล้วก็ไปส่งยังจุดหมาย ถึงแล้วก็ใช้ได้ ตีรถเที่ยวเปล่ากลับมาก็เป็นอันจบงาน ประเด็นนี้ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยสูง เพราะภาคขนส่งเป็นต้นทุนประมาณ 49% ของต้นทุนทั้งหมด ซึ่งทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการ logistics service provider จะต้องมีบทบาทในการร่วมมือกันในการลดต้นทุนขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางบกของไทยนั้นกว่า 88% เป็นการขนส่งทางถนน ซึ่งจะต้องเร่งพัฒนาการขนส่งทางไกลให้เป็นแบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (multimodal transport) เน้นการขนส่งทางน้ำหรือด้วยระบบราง (rail transport) โดยการขนส่งทางรถไฟควรจะมีบทบาทในการลดต้นทุนขนส่งของไทย เพราะรถไฟหนึ่งขบวนบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ได้ถึง 60 ตู้ แต่ใช้น้ำมันเท่ากับรถบรรทุก 2 คันเท่านั้น  

 
       
      ดังนั้นภายใต้ภาวะวิกฤติน้ำมัน ซึ่งมีแนวโน้มว่าไม่รู้จะไปสิ้นสุดเมื่อใด นโยบายของรัฐบาลต้องชัดเจน ความสำคัญของ logistics ก็อยู่ตรงที่ว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์ของการค้าโลก จากสภาวะการเปิดเสรีทั้งการค้าและการบริการ จากข้อตกลง FTA และภายใต้เงื่อนไขของ WTO ทำให้เกิดการแข่งขันซึ่งไม่ใช่การแข่งขันในประเทศ แต่เป็นการแข่งขันในระดับโลก ปัญหาของไทยคือต้นทุน logistics ต่อ GDP สูงมาก ตัวเลขที่แท้จริงก็ยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเท่าไหร่ แต่ตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ก็บอกว่าน่าจะ 20-25% ของ GDP แต่บางสถาบันก็บอกว่า 25-30% ขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วก็อยู่ที่ประมาณ 7-10% พอจะได้คำตอบว่าการพัฒนาระบบ logistics ของไทยเป็นอย่างไร ซึ่งก็ต้องตอบอย่างตรงๆ ได้ว่า เราเพิ่งจะอยู่ในระดับเริ่มต้น  จากที่ฝรั่งแบ่งออกเป็น   4 ระดับ คือ ระดับ physical logistics เป็นระดับ  

         

       เริ่มต้นที่เน้นความสำคัญด้านขนส่ง ด้านคลังสินค้า ซึ่งประเทศไทยอยู่ที่ระดับนี้ ขณะที่มาเลเซีย จะอยู่ในระดับที่ดีกว่าไทยคือ ระดับที่เป็น internally integrated logistics ซึ่งมีการใช้ระบบสารสนเทศโลจิสติกส์และระบบ IT มา ใช้ในการจัดการ และเน้นเรื่อง JIT Delivery คือ การส่งมอบแบบทันเวลา ซึ่งทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์เหลือประมาณ 13-15% ประเทศออสเตรียก็จะอยู่ในระดับนี้ส่วนระดับ external integrated logistics ซึ่งเป็นระดับที่มีการประยุกต์ใช้ supply chain และการขนส่งเป็นลักษณะ modal shift คือ เน้นการขนส่งทางรางหรือทางน้ำ ซึ่งทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์จะอยู่ที่ประมาณ 10-13% สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือสิงคโปร์ จะอยู่ในขั้น global logistics คือเป็นขั้นที่มีระบบเชื่อมโยงเครือข่ายในระดับโลก และพัฒนาจนเกิด value creation คือการสร้างเสริมคุณค่าในกระบวนการผลิต ในตัวสินค้า หรือ brand name รวมถึงงานบริการต่างๆ ที่เป็น service sector ซึ่งทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์อยู่
ในระดับ 7-10%  และจากตัวเลขของธนาคารโลก ประมาณว่า การลดต้นทุนขนส่งเพียงร้อยละ 1 จะเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดได้ถึงร้อยละ 5 และสามารถเพิ่ม GDP ได้ถึงร้อยละ 1.5%

         

       ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ไทยต้องปรับตัว เพราะจีนมีต้นทุนทั้งค่าแรงและวัตถุดิบที่ต่ำกว่าไทย สินค้าหลายรายการคงต้องหลบให้กับจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง FTA “มีทั้งคนได้ และคนเสีย” อยู่ที่ว่าจะจัดการอย่างไรเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งในภาคการผลิตและภาคผู้ให้บริการ ในการที่จะให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทย โดยให้ภาครัฐให้การส่งเสริมพัฒนาโดยเร็วและเร่งด่วน เพราะปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะสนับสนุนในด้านนี้ ซึ่งรัฐจะต้องมาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่เกือบทั้งหมดเป็น SMEs ให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ การตลาด และทุน   ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ไทยต้องปรับตัว เพราะจีนมีต้นทุนทั้งค่าแรงและวัตถุดิบที่ต่ำกว่าไทย สินค้าหลายรายการคงต้องหลบให้กับจีน อย่างไรก็ดี ข้อตกลง FTA “มีทั้งคนได้ และคนเสีย” อยู่ที่ว่าจะจัดการอย่างไรเท่านั้น ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งในภาคการผลิตและภาคผู้ให้บริการ ในการที่จะให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเร่งพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ของคนไทย โดยให้ภาครัฐให้การส่งเสริมพัฒนาโดยเร็วและเร่งด่วน เพราะปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆ ที่จะสนับสนุนในด้านนี้ ซึ่งรัฐจะต้องมาสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่เกือบทั้งหมดเป็น SMEs ให้มีความเข้มแข็งทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ การตลาด และทุน

   

   

ที่มา : http://www.logisticsdigest.com/

 984
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์