เพื่อให้การจัดการเรื่องการขนส่งสินค้า รวมถึงระบบโลจิสติกส์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ เราจะมาแนะนำเงื่อนไขที่ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาในการขนส่งให้ตรงกับความต้องการและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งผู้ประกอบกิจการจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยเหล่านี้ในการควบคุมคุณภาพในการขนส่ง
1. ชนิดของสินค้า
เรื่องแรกเลยที่ต้องให้ความสำคัญในการขนส่ง คือ คุณต้องรู้ว่าสินค้าของคุณคืออะไร ต้องบรรจุแบบใด ภาษีเท่าใด ใช้สิทธิพิเศษใดๆได้หรือไม่ ต้องมีเอกสารสำคัญใดๆแนบไปกับการขนส่งด้วยหรือไม่ ต้องขออนุญาตหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องรู้ก็เพราะว่า สินค้าบางชนิดที่เห็นว่าเป็นเพียงแค่สินค้าธรรมดาๆ ใช้กันทั่วไป แต่ก็มีข้อกำหนดข้อจำกัดในการนำเข้าหรือส่งออกอยู่ด้วย อาจจะต้องขออนุญาตในกรณีที่ขนส่งข้ามเขตหรือจังหวัด รวมทั้งการขนส่งเพื่อข้ามไปยังต่างประเทศด้วย
2. ขนาดของสินค้า
ภาชนะของการขนส่งสินค้าแต่ละประเภทก็มีข้อจำกัดเรื่องขนาดแตกต่างกันออกไป ถ้าสินค้ามีขนาดใหญ่มากก็อาจไม่สามารถบรรจุในตู้สำหรับเก็บสินค้าของรถได้ อาจจะต้องเปลี่ยนภาชนะที่ใช้บรรจุสินค้าที่เป็น Flat Rack Container ซึ่งมีคุณสมบัติที่ยืนหยุ่นมากกว่าและสามารถรองรับสินค้าที่มีขนาดใหญ่ได้ จึงอาจจะเหมาะสมมากกว่า ดังนั้นการจะขนส่งสินค้าแต่ละชนิด ก็ควรจะรู้ถึงขนาดของสินค้านั้นๆด้วย
3. น้ำหนักของสินค้ารวมกับวัตถุดิบหีบห่อ
น้ำหนักรวมของสินค้าหรือ Gross Weight คือสิ่งที่ชั่งจริงๆบรรทุกบนรถขนส่งสินค้า ซึ่งถ้าหากว่าจ้างรถขนส่งสินค้า ส่วนนี้ก็จะนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทที่รับขนส่งสินค้า รวมทั้งน้ำหนักของสินค้านั้นๆก็มีผลต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุด้วยเช่นกัน ซึ่งหากไม่สามารถใช้คนยกได้ อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้เครื่องจักรจัดการในส่วนนี้เพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายไปกับส่วนนี้โดยไม่จำเป็นก็เป็นได้ ดังนั้นหากสามารถลดน้ำหนักของวัสดุหีบห่อ หรือน้ำหนักรวมหีบห่อต่อชิ้นลงได้ ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งลดลงด้วยเช่นกัน
4. ต้นทางและปลายทาง
ปลายทางการขนส่งสินค้าในแต่ละจังหวัด ภูมิภาค หรือแต่ละประเทศ ล้วนแล้วมีความแต่งต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ ดังนั้นจึงต้องมีการวางแผนให้ดีในการเดินทางเพื่อไปส่งสินค้าในแต่ละพื้นที่ เพราะบางพื้นที่อาจจะจำเป็นต้องขึ้นเขาสูง ทางโค้งเยอะ ทำให้ยากลำบากในการใช้รถ การขนส่งสินค้าอาจจะไม่สามารถบรรทุกสินค้าได้มากเท่ากับที่เคยบรรทุกเพื่อไปอีกที่ ที่อาจจะเป็นถนนที่สามารถใช้รถวิ่งได้โดยง่าย
5. จำนวนวันที่ใช้ในการขนส่ง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังให้ดี เพราะยิ่งระยะทางไกลยิ่งต้องใช้เวลามากในการขนส่งสินค้าเพื่อไปให้ถึงปลายทาง หรือแม้แต่ในกรณีที่ระยะทางเท่ากันแต่สินค้าที่ขนส่งนั้นเป็นคนละชนิดกัน ก็อาจทำให้ใช้เวลาในการขนส่งที่แตกต่างกัน บางประเภทที่บรรทุกแล้วรถสามารถวิ่งได้เร็ว บางประเภทรถวิ่งได้ช้า บางครั้งอาจใช้เวลามากจนทำให้เกินกำหนดที่จะต้องส่งสินค้าไปเลยก็มี ทำให้เสียความน่าเชื่อถือ เสียภาพลักษณ์ของบริษัท หรือของบางอย่างถ้าถึงปลายทางช้าไปแล้วทำให้ของเสียหรือหมดอายุก่อน สิ่งต่างๆเหล่านี้อาจจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นไปอีก เพื่อที่จะชดเชยหรือสิ่งชดใช้เป็นสิ่งใดๆตามที่จะตกลงกัน ส่วนนี้นี่เองที่ีธุรกิจที่มีระบบการขนส่งสินค้าเข้ามาเกี่ยวข้องจำเป็นต้องช่างน้ำหนักให้ดีๆ สำหรับการขนส่งและเวลาที่ใช้ในการขนส่ง ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้ามักจะแปรผกผันกับค่าใช้จ่าย แต่ถ้าช้าเกินไปก็อาจจะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิมอีกเยอะ
6. ต้นทุนในการขนส่ง
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกอย่างต่อการทำธุรกิจก็คงหนีไม่พ้นเรื่องต้นทุน ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือ การลดต้นทุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของสินค้าและระยะเวลาในการขนส่งมากนัก ดังนั้นการจัดการในเรื่องนี้ควรเป็นไปอย่างรอบคอบ ก่อนจะทำการส่งสินค้า
การขนส่งสินค้าโดยรถยนต์หรือรถบรรทุก เป็นการขนส่งที่ได้รับความนิยมสูงสุดหากขนส่งภายในประเทศ โดยปัจจุบันได้มีการสร้างถนนหลายสายเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดต่างๆ โดยมีกรุงเทพมหานครฯ เป็นศูนย์กลางของการขนส่ง ซึ่งการขนส่งทางรถยนต์หรือรถบรรทุกนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาในด้านการจำหน่ายสินค้าของธุรกิจต่างๆได้เป็นอย่างมาก เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว สามารถส่งสินค้าไปถึงผู้ซื้อหรือผู้ใช้งานได้โดยตรง
ข้อดี/ข้อเสีย ของการขนส่งทางรถยนต์หรือรถบรรทุก
ข้อดี: 1. สามารถให้บริการได้ถึงที่ โดยไม่ต้องมีการถ่ายโอน
2. ขนส่งสินค้าได้ตลอดเวลา และตรงตามความต้องการของลูกค้า
3. สะดวก, รวดเร็ว
4. เหมาะกับการขนส่งในระยะสั้นและระยะกลาง
5. เป็นตัวเชื่อมจากการขนส่งในรูปแบบอื่นๆที่ไม่สามารถขนส่งไปยังจุดหมายได้โดยตรง
ข้อเสีย: 1. มีความปลอดภัยต่ำ และเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง
2. ขนส่งสินค้าได้ในขนาดและปริมาณที่จำกัด
3. กำหนดเวลาที่แน่นอนได้ค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น จากสภาพการจราจรและสภาพอากาศ
ข้อมูล: http://www.transport4thai.com/