Intelligent Transport Systems

Intelligent Transport Systems

         
             
     ระบบที่มีการใช้เทคโนโลยีด้านการคำนวณเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารมาใช้กับการจัดการจราจร และการขนส่งที่สอดคล้องกับเวลาจริง (Real-Time) มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทาง การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการจราจร
มีความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
    
ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะประกอบด้วย 6 ระบบสำคัญคือ
      
1. ระบบการจัดการจราจร:: เกี่ยวข้องกับการควบคุมการจราจร และสัญญาณไปจราจร โดยการนำเอาเทคโนโลยีชั้นสูงทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์มาใช้ในการควบคุมสัญญาณไฟจราจรให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนั้นยังรวมถึงการจัดการกับอุบัติเหตุต่างๆ โดยการใช้ Sensor และเทคโนโลยีทางการสื่อสารเพื่อตรวจสอบการเกิดอุบัติเหตุ และการยืนยันการดำเนินการช่วยเหลือ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ระบบดังกล่าวจะมีการนำเทคโนโลยีด้านการตรวจตรา เช่น การนำเอาอุปกรณ์สำหรับตรวจนับจำนวนยานพาหนะมาใช้ เพื่อให้การคำนวณรอบสัญญาณไฟมีความสอดคล้องกับปริมาณการจราจรในแต่ละทิศทางของทางแยก และตรงกับเวลาจริงมากที่สุด

2. ระบบการให้ข้อมูลข่าวสารการเดินทาง :: ระบบดังกล่าวนี้เป็นการให้ข้อมูลข่าวสารก่อนการเดินทาง ระบบแนะนำเส้นทางติดตั้งในรถยนต์สภาพการจราจร สภาพถนน และสภาพแวดล้อม ตลอดจนอุบัติเหตุต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีด้านวิทยุสื่อสาร ป้ายสลับข้อความ อินเตอร์เน็ต การรายงานข่าวทางโทรทัศน์ และการให้ข้อมูลส่วนบุคคล (PDA) เป็นต้น
 
3. ระบบความปลอดภัยในยานพาหนะ และการจัดการเหตุฉุกเฉิน :: เป็นเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ มีการควบคุมความเร็วอัตโนมัติ การเตือนการชน การหลีกเลี่ยงการชน เครื่องมือป้องกัน หรือเตือนกรณีผู้ขับขี่ง่วงนอน ตลอดจนการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เป็นต้น
 
4. ระบบการบริหารจัดการรถสินค้า :: เป็นระบบที่มีวัตถุประสงค์หลักในการเพิ่มผลผลิต และความปลอดภัยในอุตสาหกรรม และการขนส่งสินค้า โดยการปรับปรุงการจดทะเบียน การออกใบอนุญาตการจัดเก็บภาษี และขั้นตอนการขนส่งสินค้า โดยมีการใช้เทคโนโลยีในการตรวจตรวจปล่อยรถแบบอิเลคทรอนิคส์ (Electronic Clearance) การจัดการ และติดตามรถบรรทุก ตลอดจนการตรวจสอบความปลอดภัย
 
5. ระบบการจัดการรถขนส่งสาธารณะ :: เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีในการบอกตำแหน่งของยานพาหนะอัตโนมัติ (AVL) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนเนื่องจากสามารถทราบเวลาในการรอรถโดยสารสาธารณะ ทำให้สามารถบริหารเวลาการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น มีการให้สิทธิแก่รถโดยสารสาธารณะที่แยกสัญญาณไฟ เป็นต้น
 
6. ระบบชำระค่าโดยสาร ค่าผ่านทางอัตโนมัติ :: เป็นระบบการจ่ายเงินค่าโดยสารรถโดยสารสาธารณะ และการเก็บค่าผ่านทางแบบอิเลคทรอนิคส์ โดยการใช้บัตร Smart Card สำหรับเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ โดยผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่ต้องจอดรถเพื่อจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งปัจจุบันเราก็ได้เห็นระบบชำระค่าโดยสาร ค่าผ่านทางอัตโนมัติแล้ว ก็คือ EasyPass ที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นเอง

 

 



ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก
ร้อยตำรวจเอก ไวพจน์ กุลาชัย
รองสารวัตรฝ่ายอำนวยการ (ยุทธศาสตร์และแผน) กองบังคับการตำรวจจราจร

 1839
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์