ทางรอดผู้ประกอบการขนส่ง-โลจิสติกส์ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย

ทางรอดผู้ประกอบการขนส่ง-โลจิสติกส์ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย

          

          ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ระดมพล หามาตรการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ ชี้ภาครัฐควรหาแนวทางสนับสนุนส่งเสริม หวั่นธุรกิจไปไม่รอด เผยอาจมีแรงงานโลจิสติกส์ถูกเลิกจ้างกว่า 3 แสนราย  ผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้ได้ส่งผลกระทบต่อคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งติดลบมากที่สุดในรอบ 30 ปี ทั้งนี้ได้ส่งผลกระทบถึงการส่งออกของไทยที่ติดลบอย่างหนัก รวมทั้งเกิดปัญหาว่างงานครั้งใหญ่ โดยคาดการณ์ว่าอาจจะมีแรงงานโลจิสติกส์-ขนส่งว่างงานกว่า 300,000 คน จากแรงงานทั้งหมดประมาณ 3 ล้านคน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสายงานโลจิสติกส์ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการคมนาคมขนส่งทางบกวุฒิสภา และสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ได้ร่วมกันจัดเสวนาผลกระทบทางเลือก...ทางรอดของผู้ประกอบการขนส่ง-โลจิสติกส์ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย โดยมีทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการเสวนา

           "ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่ตกสำรวจจากรัฐบาล เพราะมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิต การท่องเที่ยว และการเกษตร โดยธุรกิจโลจิสติกส์กลับยังไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ซึ่งแรงงานด้านโลจิสติกส์ในปัจจุบันมีถึงประมาณ 3 ล้านคน จากวิกฤติเศรษฐกิจขณะนี้ตกต่ำมากกว่าที่คาดไว้ ปัจจัยเสี่ยงที่เห็นชัดเจนคือภาคการส่งออก-นำเข้าที่ติดลบอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบคือผู้ให้บริการโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออก-นำเข้าที่หดตัวลง ที่เป็นห่วงว่าหากธุรกิจไม่สามารถอยู่รอดได้ จะส่งผลให้แรงงานด้านโลจิสติกส์อาจได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้าง ที่นับว่าน่าเป็นห่วง ดังนั้นรัฐบาลควรมีมาตรการออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ เพื่อช่วยประคองธุรกิจให้สามารถอยู่รอดได้"
     

        ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว "การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ตรงจุดนัก เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานแล้ว ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เห็นว่ารัฐบาลควรหาทางไม่ให้แรงงานถูกปลดออกจากงานจึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดและยั่งยืนกว่า" ดร.ธนิต กล่าวย้ำ " ขณะนี้ปริมาณการส่งออกลดลงอย่างมาก ตลาดเป็นของผู้ซื้อบริการ วันนี้ธุรกิจโลจิสติกส์ส่วนใหญ่ขาดทุน ดังนั้นทุกคนต้องพยายามประคองธุรกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ ต้องพยายามให้ขาดทุนน้อยที่สุด ทุกบริษัทต้องพยายามหายุทธวิธีให้รักษาฐานลูกค้าให้ได้ ซึ่งเหตุการณ์นี้ต้องยอมรับว่าอาจต้องมีบางบริษัทที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ ซึ่งผู้ที่สามารถอยู่รอดได้ในสภาวการณ์เช่นนี้คือผู้ที่แข็งแรงที่สุด แต่หากเหตุการณ์ยังไม่ดีขึ้นเชื่อว่าต้องมีอีกหลายบริษัทที่ล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอน" คุณสุวิทย์ รัตนจินดา ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย และในฐานะนายกสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ กล่าว จากการเสวนาระดมความคิดเห็นผู้ประกอบการโลจิสติกส์ได้ข้อสรุปร่วมกันที่จะเสนอ 6 แนวทาง เพื่อให้ภาครัฐช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจ ได้แก่ 
           ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการโลจิสติกส์ในวงเงิน 
             20,000 ล้านบาท
           ขอให้ออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระเอกชน เช่น ลดค่าภาระ
             ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ค่าธรรม ค่าล่วงเวลา เป็นต้น 
           ขอให้ลดค่าเช่าสถานประกอบการในพื้นที่ปลอดอากรของท่า
             อากาศยานสุวรรณภูมิ 
           ปรับลดค่าสัมปทานสถานีขนส่งสินค้าไอซีดีลาดกระบัง 
           เสนอให้ภาครัฐมีมาตรการให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ย
            ต่ำ ให้ผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ และให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณช่วย
            เหลือผู้ตกงานจากภาคขนส่ง-โลจิสติกส์
    

       ทั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อผู้ประกอบการในภาคโลจิสติกส์ส่งผลให้ภาคการส่งขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ปัจจุบันปริมาณการขนส่งผ่านทางท่าเรือแหลมฉบังที่เป็นสินค้าส่งออกในเดือนมกราคม 2552 ลดลง 29.3% และกุมภาพันธ์ ลดลง 20% สินค้านำเข้าลดลง 33.4% และ 41.2% ตามลำดับ โดยมีแรงงานที่อยู่ในภาคนี้ 50,000 คน ไม่รวมแรงงานที่ทำงานอยู่ในท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพและท่าเรืออื่นๆ (ตัวเลขของท่าเรือแหลมฉบังในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามีสินค้าลดลงประมาณ 200,000 TEU หรือลดลงร้อยละ 12 และท่าเรือคลองเตยตู้สินค้าลดลง 20%) ทางสมาคมเจ้าของเรือระหว่างประเทศ ได้แจ้งว่าผลของเศรษฐกิจถดถอยส่งผลต่อการลดจำนวนสินค้าร้อยละ 30-40 มีสายการเดินเรือหยุดให้บริการอย่างน้อย 3 ราย มีเรือสินค้าจำนวนประมาณ 300-400 ลำ จอดลอยลำที่ประเทศสิงคโปร์ และต้องนำตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปฝากไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบังจำนวนมาก อาจส่งผลต่อการเลิกจ้างแรงงาน 10-15% (ให้ข้อมูลโดย : สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) สมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพ (BSAA) การท่าเรือแหลมฉบัง และการท่าเรือกรุงเทพฯ)


                         

    
        โดยภาคการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศนั้น เดือนมกราคม ปริมาณการส่งออกทางอากาศลดลง 29.19% และเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 20.16% โดยการนำเข้าลดลง 36.5% และเดือนกุมภาพันธ์ 33.93% ตามลำดับ โดยมีแรงงานอยู่ในภาคนี้ 30,000 คน ไม่รวมแรงงานที่อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยปัจจุบัน "Cargoes" เป็นรายได้ของธุรกิจการบินประมาณ ร้อยละ 50 ซึ่งการที่จำนวนสินค้าขนส่งทางอากาศลดลงส่งผลต่อธุรกิจต่อเนื่อง เช่น คลังสินค้าการบินไทย ซึ่งปริมาณงาน 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลงประมาณ 40% (ให้ข้อมูลโดย: สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และ (คลังสินค้าการบินไทย) ในส่วนของภาคการขนส่งทางบกนั้น พบว่า เดือนมกราคม 2552 ปริมาณการขนส่งในประเทศ สำหรับสินค้าส่งออก เดือนมกราคม 2552 ลดลง 30.3% และในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 29.6% สำหรับสินค้านำเข้าเดือนมกราคมลดลง 40.2% เดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 44.5% นอกจากนี้ การขนส่งที่ให้บริการภายในประเทศ เดือนมกราคม ลดลง 26.5% และเดือนกุมภาพันธ์ ลดลง 25.5% โดยมีแรงงานที่เป็นคนขับรถอยู่ในภาคนี้ 740,000 คน โดยตัวเลขนี้ไม่รวมแรงงานติดรถและแรงงานขนถ่ายขึ้น-ลง จากรถ ซึ่งคาดว่าจะมีแรงงาน รวมทั้งหมดอยู่ในภาคขนส่งจำนวน 1.5-2.0 ล้านคน ผลของวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลให้ปัจจุบันปริมาณรถบรรทุกที่หยุดวิ่งแล้วประมาณ 200,000 - 250,000 คัน

     

       สำหรับภาคธุรกิจให้บริการออกของ-ชิปปิ้ง ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้บริการในการนำสินค้าผ่านพิธีการศุลกากรเข้าและออก และให้บริการในการเคลียร์สินค้าจากท่าเรือ-สนามบิน และด่านชายแดน ซึ่งในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปริมาณใบขนสินค้านำเข้าและส่งออก ลดลง 35.5% ถึง 40% ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณภาคการขนส่งที่ลดลง และสอดคล้องกับตัวเลขรายได้จากการจัดเก็บภาษีของศุลกากรที่ติดลบ 13.5% และภาษีสรรพสามิตลดลง 21.9% โดยมีปริมาณแรงงานของภาคนี้ประมาณ 50,000-60,000 คน ไม่รวมแรงงานขนถ่ายย้ายสินค้า ทั้งในคลังสินค้า ท่าเรือ และท่าอากาศยาน (ให้ข้อมูลโดย :สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย และสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย) นอกจากผู้ประกอบการเอกชนจะต้องเร่งพัฒนาองค์กร ปรับกลยุทธ์ให้มีความแข็งแกร่งเพื่อผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้แล้ว ภาครัฐเองนับว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริม ให้ธุรกิจโลจิสติกส์สามารถอยู่รอดได้ 

  

  

ที่มา : http://www.logisticsdigest.com/index.php?option="com_content&task=view&id=2675&Itemid=73

 1328
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์