กรมการขนส่งทางบกเปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบกได้มีการดำเนินการเชิงป้องกันและควบคุมการเกิดอุบัติเหตุโดยการใช้ระบบ GPS Tracking เพื่อติดตามพฤติกรรมต่างๆของผู้ขับขี่ในการใช้รถ ทั้งความเร็วในการขับขี่ ชั่วโมงการทำงาน ซึ่งจะควบคุมกำกับดูแลผ่านศูนย์บริหารจัดการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งจากส่วนกลางและจากทุกจังหวัด
แต่ล่าสุดกรมการขนส่งทางบก โดยศูนย์ควบคุมได้พบความผิดปกติของข้อมูลการเดินรถ จึงประสานพื้นที่สกัดจับเพื่อตรวจสอบรถที่ต้องสงสัยและตรวจสอบจีพีเอส พบว่ามีการใช้อุปกรณ์ตัดสัญญาณจีพีเอส ทำให้การส่งข้อมูลต่างๆ ไม่สามารถส่งไปยังศูนย์ควบคุมได้ จึงมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 ฐานกระทำผิดเรื่องใบอนุญาตประกอบการ มีโทษเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุด และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ทันที
ส่วนผู้ประกอบการขนส่งนั้นได้มีการสั่งพักใช้รถคันนั้น พร้อมให้ศูนย์ควบคุมทุกตรวจสอบประวัติการเดินรถย้อนหลังและรวมหลักฐานเพื่อแจ้งความดำเนินคดี ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งมีส่วนที่รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิดดังกล่าว ก็จะโดนพิจารณาพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งทันที
นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบผู้ให้บริการระบบจีพีเอส (GPS Vendor) อีกด้วย และหากพบเจตนาเพื่อเอื้อให้เกิดช่องโหว่ในการทำผิดกฎหมายสำหรับผู้ใช้งาน ก็มีโทษเช่นกัน และอาจถึงขั้นพิจารณายกเลิกการรับรองการเป็นผู้ให้บริการระบบจีพีเอส หรือยกเลิกรุ่นของจีพีเอสนั้น รวมทั้งหากระบบ GPS Tracking ขัดข้องไม่สามารถใช้งานได้ ไม่พบสัญญาณในการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ให้บริการระบบจีพีเอสนั้นต้องมีส่วนรับผิดชอบในการดำเนินแก้ไขโดยด่วน และมีความผิดตามกฎหมายปรับวันละ 5,000 บาทต่อคัน จนกว่าจะแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้จากการสถิติความผิดของรถที่ติดตั้งจีพีเอส เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ควบคุม พบว่าแนวโน้มการกระทำผิดลดลงเรื่อยๆ โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 พบมีรถที่เชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์ควบคุมของกรบการขนส่งทางบก 281,538 คัน และรายงานการกระทำผิดที่แนวโน้มลดลง เช่น การใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่ 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, การที่พนักงานผู้ขับรถไม่รูดบัตรเพื่อยืนยันตัวตนก่อนขับรถ หรือการที่พนักงานขับรถขับรถต่อเนื่องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ล้วนแล้วแต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
และจากข้อมูลปัจจุบันมีจำนวนผู้ให้บริการระบบจีพีเอส ที่ได้รับการรับรองจากกรมขนส่งทางบกทั้งสิ้น 111 ราย มีจำนวนรุ่นของจีพีเอสที่ได้รับการรับรองอีก 301 รุ่น เพื่อให้ประสิทธิภาพในการควบคุมกำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะ ความคุมพฤติกรรมการใช้รถของพนักงานขับรถแบบ Real-time ซึ่งกรมการขนส่งเองก็เข้มงวดในการตรวจสอบสถานะของรถโดยสารทุกคัน โดยมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เอาจริงกับผู้ที่ทำผิดกฎทุกๆกรณีไม่มียกเว้น
ข้อมูล: https://news.mthai.com/ และ กรมการขนส่งทางบก