ภาพ: https://medium.com/
เบรคนับว่าเป็นอีกส่วนที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆสำหรับรถของคุณ เพราะหากเบรคใช้งานไม่ได้แล้วก็คงจะเป็นอันตรายต่อรถและตัวคุณอย่างมากในการใช้งาน และการดูแลระบบเบรคนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญอีกด้วยเช่นกัน ต้องหมั่นคอยสังเกตความผิดปกติและควรตรวจเช็คให้พร้อมใช้งานตลอด เพราะการใช้งานเบรคนั้นถ้าหากผิดพลาดเพียงนิดเดียว ก็อาจหมายถึงความอันตรายร้ายแรงได้
1. เบรคแล้วมีเสียงดัง
หากเบรครถแล้วเกิดมีเสียงดัง ทั้งจากล้อรถด้านหน้าหรือด้านหลัง อาจเป็นเพราะผ้าเบรคนั้นใกล้จะหมด ซึ่งควรรีบเปลี่ยน หรืออาจจะเป็นเพราะผ้าเบรคกินจาน ซึ่งสาเหตุเกิดจากการใช้ผ้าเบรคที่ขนาดไม่เหมาะสมกับขนาดจานเบรค
- เคสนี้อาจจะเปลี่ยนผ้าเบรค หรือนำผ้าเบรคมาลบเหลี่ยมในกรณีที่ผ้าเบรคกินจาน (แต่ตัวผ้าเบรคยังเหลือเยอะ)
2. เบรคสั่น
หากเหยียบเบรคแล้วรู้สึกได้ว่าเบรคมีการสั่น ทำให้ล้อรถสั่น สะท้านมาถึงพวงมาลัย แน่นอนว่าอาการเช่นนี้มีปัญหาที่จานเบรค อาจเป็นไปได้ว่าใช้งานเบรคอย่างหนักจนทำให้เกิดการบิดตัวของจานเบรค
- เคสนี้แก้ไขได้โดยการเจียจานเบรค แต่ถ้าหากว่าจานเบรคผิดรูปไปมากแล้ว อาจจะจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่
3. เบรคทื่อ หรือแข็ง
การเหยียบเบรคแล้วรู้สึกได้เลยว่าเบรคแข็ง เหมือนจะกดไม่ลง ต้องออกแรงกดมากกว่าเดิม ปัญหาเช่นนี้มักจะมาจากปัญหาที่หม้อลมเบรค ที่อาจจะรั่วซึม
- เคสนี้ควรตรวจสอบหม้อลมเบรคเป็นอันดับแรกโดยด่วน
4. เบรคจม
เวลาเหยียบเบรคแล้วรู้สึกว่าแป้นเบรคที่เท้าจมลงไปเรื่อยๆ เช่น เวลาติดไฟแดงแล้วเหยียบเบรคค้างไว้ ทำให้ต้องคอยเหยียบเบรคซ้ำๆ สาเหตุนี้อาจเป็นเพราะลูกยางในแม่ปั้มเบรคบวม หรือสึก ซึ่งอาการนี้ควรรีบตรวจเช็คและแก้ไขโดยด่วน
- เคสนี้ควรตรวจเช็คลูกยางชองแม่ปั้มเบรค ถ้าหากเสียหายควรรีบเปลี่ยน
5. เบรคแตก
อาการเบรคแตกคือ เมื่อเหยียบเบรคแล้วแป้นเบรคจมหายไปเบน ไม่มีอาการใดๆที่ทำให้รู้สึกว่ารถหน่วงหรือหนืดใดๆ อาการเบรคแตกนั้นเกิดจากการรั่วของน้ำมันเบรค หรือท่อทางเดินของระบบเบรค หรือแม่ปั้มเบรคชำรุด หรือแม่ปั้มเบรคเสียหายจนน้ำมันเบรครั่วไหลออกมาจนหมด
- เคสนี้หากเบรคแตกให้พยายามประคองสติไว้ ให้พยายามควบคุมรถและลดเกียร์ต่ำลงเรื่อยๆ และใช้เบรคมือในการช่วยสำหรับการหยุดรถ (แต่ถ้าเป็นเบรคมือไฟฟ้า--ห้ามใช้)
6. เบรคติด
ลักษณะของการเบรคติดคือ เมื่อยกเท้าออกจากแป้นเบรคแล้ว แต่ว่าแป้นเบรคไม่ยกขึ้นมาตาม อาจจะเป็นเพราะว่าเบรคร้อนจัด โดยเบื้องต้นให้ลองจอดรถ เข้าเกียร์ว่าง แล้วลองเหยียบเบรคดู หากยังมีอาการเช่นเดิมก็เป็นไปได้ว่าลูกยางกันฝุ่นของแม่ปั้มเบรคอาจฉีกขาด ทำให้มีน้ำซึมเข้าไปในกระบอกเบรคจนทำให้สนิมขึ้น หรือซีลยางบวมผิดรูปจนทำให้ลูกสูบที่คาลิปเปอร์เบรคไม่เคลื่อนที่กลับ
- เคสนี้ลองทำความสะอาดคราบสนิม หรือเปลี่ยนซีลยางลูกสูบใหม่หากบวมผิดรูป
7. เบรคปัด
เมื่อเบรคแล้วศูนย์หรือทิศทางของรถเลื้อยไปเลื้อยมา อาจเกิดจากคราบน้ำมันจากชุดช่วงล่างกระเด็นมาโดนจานเบรค ทำให้จานเบรคไม่มีแรงเสียดทาง ไม่สามารถจับตัวได้
- เคสนี้ให้รีบนำรถเข้าตรวจเช็คว่าเบรคปัดในลักษณะใด และรีบแก้ไข
8. เบรคเฟด
เบรคแล้วมีอาการจานเบรคไม่จับตัวเบรค เมื่อมาด้วยความเร็วสูงหรือเส้นทางลาดลงเขา ซึ่งเกิดจากความร้อนของเบรคสูงมากจากการใช้งานเบรคอย่างหนัก
- เคสนี้แก้ไขได้โดยเปลี่ยนผ้าเบรคใหม่ที่ทนความร้อนได้สูงขึ้น รวมทั้งเปลี่ยนน้ำมันเบรคให้มีค่า DOT สูงขึ้น (แต่ต้องเช็คให้ดี เพราะน้ำมันเบรคที่ค่า DOT สูง อาจจะมีฤทธิ์กัดกร่อนพวกท่อยางสายน้ำมันเบรค)
ข้อมูล: http://www.thaicarlover.com/