การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายในปี 2558 (ค.ศ.2015) เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน และมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรี และการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ทั้งนี้ ความ จำเป็นที่อาเซียนต้องเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก็เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอาเซียน สร้างให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางภายในภูมิภาค คานอำนาจของประเทศอื่นๆ ภายในภูมิภาคที่มีบทบาทโดดเด่นอย่าง เช่น จีน และอินเดีย การที่จีนและอินเดียเริ่มแสดงบทบาทในเศรษฐกิจโลก ทำให้อาเซียนยิ่งต้องเร่งปรับปรุง ภายในและสร้างความน่าสนใจ ด้วยการพยายามสร้างจุดขายที่ว่า “อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นตลาด หรือฐานการผลิตเดียวกัน” เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้เสมือนอยู่ในประเทศเดียวกัน
กระบวนการผลิตสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ โดยสามารถใช้ทรัพยากรทั้งวัตถุดิบและแรงงานจากหลายประเทศเพื่อนำมาใช้ในการผลิต ปราศจากอุปสรรคในด้านภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี มีการสร้างมาตรฐานของสินค้า และกฎเกณฑ์/กฎระเบียบต่างๆ ร่วมกัน
ในบริบทเช่นนี้ ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวมีประชากรแค่ 60 กว่าล้านคน และมี GDP เพียง 4,000 กว่าล้านบาท คงไม่สามารถแข่งขันกับกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) เขตการค้าเสรีในภูมิภาคอเมริกาเหนือ (NAFTA) สหภาพแอฟริกา (AU) ได้ หรือแม้กระทั้งมหาอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน หรืออินเดีย แต่ถ้ารวมกันเป็นประชาคมอาเซียนที่เป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวสำเร็จ จะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรรวมเกือบ 600 ล้านคน หรือ 1 ใน 10 ของประชากรโลก ที่มี GDP รวมเกือบ 30,000 ล้านบาท นับเป็นตลาดและแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพมหาศาล และยังเป็นฐานของไทยในการค้าขายกับตลาดอื่นๆ นอกภูมิภาคอีกด้วย
นับตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 2535 เป็นต้นมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอาเซียนก็เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด จนขณะนี้คิดเป็นเกือบ 20% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย และทำให้อาเซียนได้ก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยแซงหน้าสหรัฐฯ และยุโรปไปแล้ว นอกจากนี้ ยังจะช่วยกระชับความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ปัญหาความยากจน โรคติดต่อ ยาเสพติด สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติทางธรรมชาติ แรงงาน ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การค้าภายในอาเซียนมีสัดส่วนขยายตัวมาโดยตลอด ซึ่งถือได้ว่าเป็นตลาดใหญ่ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
โจทย์ใหญ่กำลังมาในอนาคต จึงมีคำถามว่า ประเทศไทยพร้อมหรือยังกับการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน? นั่นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐที่ต้องดำเนินการเพื่อฝ่าฟันให้ประเทศไทยได้ประโยชน์มากที่สุดอย่างไรก็ดี การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันนั้น เป้าหมายเปิดเสรีภาคบริการมี 12 สาขาที่สำคัญ ทั้งด้านสื่อสาร การเงิน การก่อสร้าง สุขภาพ การจัดจำหน่าย การท่องเที่ยว การศึกษา นันทนาการ สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ รวมทั้งด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ด้วย
ในภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ มีแผนงานบริการออกมาแล้ว 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.แผนอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน 2.แผนอำนวยการความสะดวกด้านโลจิสติกส์ 3.แผนงานการเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์ 4.แผนงานส่งเสริม ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ในอาเซียน และ 5.แผนงานเพิ่มศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านโลจิสติกส์
ต้องยอมรับว่า ระบบโลจิสติกส์ไทย ยังไม่สามารถลดต้นทุนของประเทศได้เท่าที่ควร เพราะระบบขนส่งยังไม่สอดคล้องกันในภาพใหญ่ โดยเฉพาะในภาคการขนส่งทางถนนที่มีรถบรรทุกมากเกินความจำเป็นและไม่มีราคาที่เป็นมาตรฐาน
ทีมข่าว “BUS & TRUCK” จึงอยากขอสรุปสถานการณ์และปัญหาในปัจจุบันที่ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาไว้ให้ทราบว่า หากมีการเปิดการค้าเสรีเต็มรูปแบบ ภาคขนส่งไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร? และปัจจุบันภาคขนส่งไทยมีปัญหาอะไร?
โดยปัญหาของรถทะเบียน 70 (รถบรรทุกรับจ้างสาธารณะ) นั้น มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะการตัดราคา ทำให้เกิดการบรรทุกน้ำหนักเกิน ส่งผลต่อคุณภาพและความปลอดภัย รวมถึงทำให้ผิวถนนชำรุด รวมถึงปัญหาขาดกลไกการควบคุมราคาค่าบริการ เนื่องจากยุบเลิกองค์การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ทำให้ขาดการกำหนดอัตราค่าบริการขนส่งที่ใช้เป็นราคาอ้างอิง
ส่วนรถทะเบียน 80 (รถบรรทุกของเจ้าของสินค้า) ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสินค้ารายใหญ่ เช่น กลุ่ม SCG, Thai Beverage, NYK, SSO Transport, Logistics, และ Linfox ปัญหาคือ เจ้าของ สินค้ารายใหญ่มักเป็นต่างชาติ จึงเลือกใช้ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต่างชาติในเครือ โดยไม่ใช้บริการผู้ประกอบการโลจิสติกส์ของไทย
จากสถานการณ์และปัญหาของรถบรรทุกข้างต้น ประเทศไทยควรมีการจัดระเบียบสาขาการขนส่งด้วยรถบรรทุกภายในประเทศให้เกิด ความเข้มแข็ง ก่อนการเปิดเสรีภาคการขนส่ง โดย ประเด็นหลักๆ ที่ควรพิจารณา คือ แก้ไขปัญหารถทะเบียน 70 และ 80 และการกำกับดูแลสาขาการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก
สำหรับการแก้ไขปัญหารถบรรทุกทะเบียน 70 ละ 80 นั้น ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า ควรนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการจาก Transport operator เป็น Logistics provider ที่ครบวงจร เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้เมื่อตลาดการขนส่งมีการเปิดเสรีใน อนาคต รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า โดยผ่านทางสมาคมต่างๆ เช่น สมาคมพ่อค้าไทย-จีน เพื่อขายสินค้าของไทยให้กับต่างประเทศและใช้ผู้ประกอบการขนส่งไทยในการให้ บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
ส่วนผู้ประกอบการรถทะเบียน 70 ควรเน้นการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนหรือเวลาในการขนส่ง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่เน้นกิจกรรมเคลื่อนย้ายสินค้า แต่ไม่มีการบริหารจัดการ นอกจากนี้ ควรเน้นสร้างเครือข่ายพันธมิตรในการประกอบธุรกิจ เพื่อครอบคลุมพื้นที่ให้บริการและให้บริการในราคาที่ถูกกว่า มากกว่าการแข่งขันกันเอง ด้านการกำกับดูแลการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกนั้น ควรกำหนดตารางอัตราค่าขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเพื่อใช้เป็นแนวทาง โดยให้มีราคาสอดคล้องกับคุณภาพและการบริการ
รวมทั้งสนับสนุนให้สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทยมีบทบาทในการดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติตาม โดยสหพันธ์ฯ ดูแลในประเด็นอัตราค่าขนส่ง มาตรฐานความปลอดภัย และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ รวมถึงมีส่วนช่วยพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ตลอดจนกำหนดบทลงโทษและการให้รางวัลผู้ประกอบการขนส่งที่เป็นสมาชิก
ที่สำคัญควรสนับสนุนให้เกิดประกันภัยการขนส่งสินค้าทางบกระหว่างประเทศ และการลงทุนธุรกิจประกันภัยในต่างประเทศ เนื่องจากขอบเขตการรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยไทยมีอยู่เฉพาะในประเทศเท่านั้น หากเกิดความเสียหายกับสินค้าและรถบรรทุกภายนอกประเทศผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบเอง
แน่นอนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ภาครัฐต้องเตรียมแนวทางและความพร้อมเอาไว้เพื่อรับมือกับการเปิดเสรี เช่น การเตรียมการเพื่อการเปิดเสรี, การจัดทำและอนุวัติการตามความตกลงระหว่างประเทศ, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบฐานข้อมูล, การบริหารจัดการ กฎระเบียบ และการอำนวยความสะดวก เป็นต้น
ด้านผู้ประกอบการภาคเอกชน ก็ต้องเตรียมตัวเอาไว้ด้วยเช่นกันคือ ต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การพัฒนาองค์ ความรู้ การยกระดับมาตรฐานการบริการ และการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพเชิงต้นทุนการขนส่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การผนึกกำลังกันทั้งอาเซียนนั้น ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์จำนวนมากมายมหาศาล แต่ผลกระทบก็มีไม่น้อยเช่นกัน ถ้าหากประเทศไทยไม่เตรียมรับมือเอาไว้ตั้งแต่เนินๆ คู่แข่งก็อาจเข้ามาแข่งถึงเขตแดนประเทศไทยเราได้ และอาจถูกแย่งแรงงานฝีมือไปด้วย ก็เป็นไปได้
แหล่งที่มา : http://logisticscorner.com/index.php?option=com_content&view=articleid=2528:2011-09-01-15-24-10&catid=48:logistics-variety&Itemid=66