กูรูโลจิสติกส์ชี้ ธุรกิจฮาลาลยังขยายตัวไปได้อีกไกล

กูรูโลจิสติกส์ชี้ ธุรกิจฮาลาลยังขยายตัวไปได้อีกไกล

    
ผู้บริโภคล้วนแล้วแต่ต้องการสินค้าฮาลาลที่เชื่อถือได้
      
     “การขนส่งสินค้าฮาลาลเป็นระบบการแยกสินค้าแทนที่จะเป็นการตรวจสอบ” Jasim U Ahmed ประธานบริษัท Marine Management Services จำกัด และกรรมการผู้จัดการบริษัท Bangladesh Container Line จำกัด กล่าว เขากล่าวว่า แนวความคิดของการจัดการการขนส่งสินค้าฮาลาลเป็นการแยกสินค้าฮาลาลออกจากสินค้าอื่นๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ความผิดพลาดอื่นๆ และให้แน่ใจว่าเป็นตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ของผู้บริโภคที่นับถือศาสนาอิสลาม

      จากการวิจัยทั่วโลกที่จัดทำโดย LBB International เรื่องการรับรู้ของผู้บริโภคสินค้าฮาลาล พบว่า การขนส่งสินค้าฮาลาลมีความสำคัญมากต่อผู้บริโภคและพบว่าผู้บริโภคพร้อมยอมจ่ายเงินที่มากกว่าหากสินค้าฮาลาลผ่านกระบวนการต่างๆ ที่เชื่อถือได้ในแถบเอเชียประเทศมาเลเซียตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าฮาลาลของโลกทั้งนี้ เพราะสินค้ามีมาตรฐานฮาลาล ไม่ว่าจะเป็น อาหาร ยา เครื่องสำอางค์ และพร้อมพัฒนาเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าฮาลาลไปทั่วภูมิภาคประเทศไทยและอินโดนีเซียเองต่างเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกที่สำคัญของอาหารฮาลาล
    
การเติบโตแห่งศักยภาพอันยิ่งใหญ่
       

      “ระบบการขนส่งแบบฮาลาลในอุตสาหกรรมอาหารมีอยู่แล้วในประเทศไทย เราได้รับการบังคับจากผู้ซื้อ ไม่ได้จากรัฐบาลในการรับเอาแนวคิดฮาลาลและเปลี่ยนวิธิการปฏิบัติที่ใช้ในระบบขนส่ง” นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (TNSC) กล่าว
 
    อย่างไรก็ตามเขาชี้ให้เห็นข้อจำกัดของระบบคือ ไม่มีมาตรฐานที่เป็นหนึ่งที่ใช้เหมือนกันทั่วโลก มีเพียงแต่มาตรฐานของแต่ละประเทศ ประเทศไทยเองก็ควรพัฒนามาตรฐานของตน ด้วยความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียน นอกจากนี้บรรดาผู้ประกอบการควรพัฒนาระบบการขนส่งของตนเช่นกัน แนวทางปฏิบัติแบบฮาลาลสามารถใช้ได้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นๆ ด้วย อาทิ การท่องเที่ยว สายการบิน ห้องอาหาร และโรงแรม
    
มุ่งพัฒนาคุณภาพอาหารโลก

        “อาหารเป็นอุตสาหกรรมของโลก การขนส่งอาหารจึงเป็นประเด็นของโลกเช่นกัน และถือเป็นธุรกิจของโลก” นายพิทักษ์ ศุภนันทกานต์ ผู้อำนวยการด้านอาหารส่วนภูมิภาค อินเตอร์เทคกรุ๊ป และผู้อำนวยการศูนย์ตรวจสอบและพัฒนาสินค้าฮาลาลแห่งประเทศไทย กล่าวพร้อมเสริมว่า 60% ของปริมาณอาหารทั้งหมดของโลกมาจากแถบเอเชีย ความปลอดภัยในอาหารจึงเป็นประเด็นที่สำคัญของอุตสาหกรรมอาหาร
 
       เขาให้ความเห็นว่าการขนส่งแบบฮาลาลจะมีส่วนช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของอาหาร และช่วยพัฒนาคุณภาพอาหารและการบริการในอุตสาหกรรมอาหาร
      
สินค้าฮาลาลพร้อมก้าวสู่ตลาดที่หลากหลาย

      “ประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามคิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก” Chris Van Mullem, CEO แห่ง Ace Trex Logistics, ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าว บริษัทของเขามีประสบการณ์ที่ติดต่อกับบริษัทขนส่งของยุโรป และรู้ว่ามีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในยุโรปสำหรับสินค้าฮาลาล ในยุโรปประชาชนชาวมุสลิมมีถึง 30 ล้านคน นับเป็น 5 ล้านคนในอังกฤษ 4.2 ล้านคนในฝรั่งเศส และ 3.5 ล้านคนในเยอรมัน เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ขนาดของตลาดสินค้าฮาลาล ความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น การให้บริการเสริม อาทิ การออกใบประกาศ ใบรับรอง ล้วนแต่มีส่วนให้ตลาดสินค้าฮาลาลน่าสนใจยิ่งขึ้น
    
รัฐวางเป้าส่งออกอาหารฮาลาลเพิ่ม 20%

      กระทรวงอุตสาหกรรมวางเป้าเพิ่มยอดส่งออกอาหารฮาลาลอีก 20% ในปี 2554 จากยอดส่งออกอาหารฮาลาลที่ขึ้นทะเบียนกับสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทยประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
  
    ทั้งนี้อาหารที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นอาหารฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่าทางการตลาดในตลาดโลกประมาณ 6.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือ 76% ของตลาดการค้าอาหารโลกที่มีมูลค่ากว่า 8.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากประชากรในประเทศมุสลิมมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้น
  
    นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของประเทศไทยว่า สถาบันอาหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลระยะเวลา 5 ปี (ปี 2553-2557) ซึ่งมียุทธศาสตร์หลัก 5 ข้อ ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล การเสริมสร้างศักยภาพการตรวจรับรองฮาลาล การพัฒนาศักยภาพการตลาดฮาลาลสู่สากล การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาลเพื่อสร้างความเข้มแข็งของ อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ และการบริหารจัดการเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมธุรกิจและการค้าฮาลาล
      
    สำหรับแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ของไทยจะเน้นในกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ซึ่งมีจำนวนประชากรราว 1,500 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของประชากรมุสลิมทั่วโลก ปัจจุบันประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลสูง 10 อันดับแรก มีเพียงมาเลเซียและอินโดนีเซียเท่านั้นที่เป็นประเทศมุสลิม โดยทั้งสองประเทศเป็นผู้ส่งออกอันดับ 8 และ 9 ตามลำดับ
   
ที่มา : http://www.logisticsdigest.com/article/logistics-insight/item/5941-guru%E2%80%99s-logistics-point-halal-high-growth.html

 1811
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์