ปัจจุบันกับการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคธุรกิจ

ปัจจุบันกับการพัฒนาโลจิสติกส์ในภาคธุรกิจ

     
       บทบาทของโลจิสติกส์ในเชิงพาณิชยกรรมได้มีการดำเนินการควบคู่มากับโลจิสติกส์ทางการทหาร เริ่มต้นจากการขยายตัวของธุรกิจเล็ก ๆ สู่การผลิตจำนวนมากหรือการประหยัดต่อขนาด(Economy of Scale) ปริมาณสินค้าที่มากขึ้นทำให้เป้าหมายของการกระจายสินค้าแพร่หลายไปในวงกว้าง และเป็นที่แน่นอนว่าระยะทางและความซับซ้อนในการจัดส่งสินค้าหรือการจัดหาสินค้าก็เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้นตามลำดับ การจัดหาวัตถุดิบต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับ suppliers ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ suppliers ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง suppliers ทั่วโลก สินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วหรือบริการ สามารถกระจายไปสู่ตลาดภายในและตลาดระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการส่งมอบสินค้า ณ สถานที่ และเวลาที่เหมาะสม

    

        อีกทั้งในยุคปัจจุบันขนาดเศรษฐกิจที่เล็กไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดดเดี่ยวจากประเทศอื่นๆ แม้ว่าบางประเทศต้องการจะเป็นเช่นนั้นก็ตาม บริษัทต่างๆในแต่ละประเทศต่างก็ทำการค้าระหว่างกัน ไม่ว่าจะต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันเพื่อมาเติมเครื่องบิน หรือการแลกเงินเพื่อมาซื้ออุปกรณ์ใหม่ๆที่ทำในประเทศอื่นๆ เป็นการเกิดการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าบริษัทสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เกิดเป็นการค้าระหว่างกัน บริษัทระหว่างประเทศก็ต้องแข่งกับบริษัทภายในประเทศ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ลูกค้าจะได้เลือกซื้อสินค้าของตน และยังต้องการที่จะซื้อสินค้าเพิ่มเติมจากบริษัทในเวลาต่อมา ทำให้บริษัทเติบโตและขยายกิจการต่อไปได้ โลจิสติกส์จึงถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญทางธุรกิจอีกอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศในปัจจุบัน บันทึกที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ในเชิงพาณิชย์ครั้งแรก ปรากฏในสมัยต้นทศวรรษ 1960 ซึ่ง ศาสตราจารย์ Peter Drucker ได้บันทึกไว้ว่า “โลจิสติกส์ เป็นพรมแดนของโอกาสขั้นสุดท้าย (The Last real Frontiers of Opportunity) ขององค์กรที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปัจจัยเหล่านี้เองที่ได้หลอมรวมกันสร้างความน่าสนใจในโลจิสติกส์”
           
        วิวัฒนาการที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ภาคธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในภาคการผลิตในยุคเริ่มแรกเน้นการแข่งขันในด้านคุณภาพ นวัตกรรม และราคาต่อหน่วยของสินค้า จึงมุ่งเน้นในการพัฒนาประสิทธิภาพของการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ประกอบการที่อุตสาหกรรมต่างสามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน ในขณะที่ผู้ซื้อต้องการสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อให้สามารถใช้ทดแทนกันได้มากขึ้น การสร้างความแตกต่างในตัวสินค้าด้านคุณภาพและราคาจึงจำกัดวงแคบลงเป็นอย่างมาก

        
         ในขณะที่ผู้ผลิตเริ่มประสบปัญหาในเรื่องของความรุนแรงในการแข่งขัน ทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละส่วนเริ่มพิจารณาในการลดต้นทุนการดำเนินการของตนเอง และเริ่มตระหนักถึงความไม่มีประสิทธิภาพในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการผลิต อาทิ
  • ปริมาณสินค้าคงคลังไม่ตรงกับความเป็นจริง
  • สินค้าที่ลูกค้าต้องการขาด ในขณะที่มีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมากแต่ประกอบไปด้วยสินค้าซึ่งล้าสมัยหรือไม่อยู่ในความต้องการของตลาด
  • มีงานด่วนเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่องานที่ได้วางแผนไว้ อาทิ การเปลี่ยนแปลงตารางการผลิตและการจัดส่งบ่อยครั้ง
  • ความต้องการทรัพยากรไม่สม่ำเสมอ
  • เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรอย่างต่อเนื่อง ทางออกที่สำคัญเพื่อให้ดำรงอยู่ซึ่งความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการให้มีความราบรื่น ต่อเนื่อง และลดความสูญเสียที่เกิดจากปัญหาติดขัดของกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการผลิตและการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มพัฒนาในเรื่องของความต่อเนื่องของกระบวนการด้านโลจิ สติกส์ อาทิ
  • การให้ความสำคัญมากขึ้นกับความตรงต่อเวลาในการส่งมอบสินค้าโดยศึกษาและกำหนดระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยวอย่างเหมาะสม
  • การเพิ่มประสิทธิภาพกิจกรรมภายในคลังสินค้าโดยการจัดระบบแผนผังและการเลือกใช้ระบบอัตโนมัติในการเคลื่อนย้ายสินค้า
  • การลดปริมาณสินค้าคงคลังโดยการจัดทำข้อมูลสินค้าที่ถูกต้อง และการพยากรณ์ความต้องการสินค้าและวัตถุดิบที่ แม่นยำมากขึ้น
  • การลดกิจกรรมที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน อย่างเช่นการใช้หลักการ Kaizenในการปรับปรุงการปฏิบัติงาน   และการจัดเที่ยวรถ ขนส่งแบบ Milk-run  หรือ Continuous-Move routing เพื่อรถปริมาณรถเที่ยวเปล่าให้น้อยลง เป็นต้น
    การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการในปัจจุบันขยายขอบเขตไปถึงความร่วมมือในระดับอุตสาหกรรมและระดับโซ่อุปทานของธุรกิจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน อันจะทำให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจที่เข้มแข็ง อาทิ การร่วมกันพยากรณ์ความต้องการของสินค้าและวัตถุดิบ การวางแผนการกระจายสินค้า การเชื่อมต่อระบบฐานข้อมูลระหว่างองค์กรและการส่งผ่านข้อมูลยอดขาย ณ จุดขายให้กับสมาชิกในโซ่อุปทาน เป็นต้น
 


ที่มา :  update logistics trend, http://www.logisticsclinic.com/web/content/view/667/101/
 2771
ผู้เข้าชม

gps

สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์