ภาพ: https://www.tnnthailand.com/
จากข่าวช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาที่มีจำนวนผู้คนบางส่วนที่ใช้ระบบนำทางจีพีเอสเพื่อเลี่ยงรถติดสำหรับการเดินทาง แต่ดันไปเกิดปัญหาซึ่งเจ้าระบบนำทางดันพาหลงลงไปในอ่างเก็บน้ำบริเวณเขื่อนลำตะคองจากเส้นถนนมิตรภาพช่วงขาขึ้นสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจีพีเอสได้พาไปติดบนถนนภายในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคองที่ปล่อยให้น้ำท่วมและเลิกใช้งานไปแล้ว งานนี้เลยทำให้หลายๆคนจึงสงสัยในความแม่นยำของระบบจีพีเอส ว่ามีความแม่นยำ มีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน
ระบบจีพีเอส (GPS: Global Positioning System) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อยอดมาจากเทคโนโลยีอวกาศ เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2516 ในการส่งข้อมูลการกำหนดตำแหน่งมายังพื้นโลกรวมถึงในห้วงอวกาศด้วย ปัจจุบันนี้มีดาวเทียมประมาณ 30 ดวง ที่โคจรอยู่รอบโลกที่ความสูง 20,000 กิโลเมตร ครอบคลุมทุกพื้นที่ของโลก โดยสำหรับประชาชนที่ต้องการจะใช้ระบบจีพีเอสนั้น จะต้องมีเครื่องรับสัญญาณจากดาวเทียมเพื่อมาคำนวณตำแหน่งและระยะทาง ซึ่งเครื่องรับสัญญาณจีพีเอสนั้นจะมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ใช้บนเครื่องบิน เรือเดินสมุทร มาจนถึงขนาดเล็กที่ใช้งานบนสมาร์ทโฟน หรือกระทั่งสามารถฝังไว้ใต้ผิวหนังได้ และโดยปกติแล้วเครื่องรับสัญญาณที่มีขนาดใหญ่มักจะมีความแม่นยำและคลาดเคลื่อนน้อยกว่า เพราะด้วยเซ็นเซอร์ เทคโนโลยี การประมวลผลต่างๆที่อัดแน่นลงไปมากกว่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะไม่เสมอไป
เมื่อมีข่าวเรื่องประชาชนบางส่วนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมานี้ ได้ใช้งานระบบนำทางจีพีเอสและหลงเข้าไปติดในเส้นทางภายในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลำตะคองที่น้ำท่วมอยู่และไม่สามารถใช้งานได้นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบจีพีเอสไว้ว่า ความผิดพลาดนั้นอาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ
1. ปกติดาวเทียมจีพีเอส จะส่งข้อมูลที่มีความคลาดเคลื่อนได้อยู่แล้ว ราวๆ 5-10 เมตร ขึ้นอยู่กับสัญญาณจากดาวเทียมที่เครื่องรับสัญญาณจับได้ รวมทั้งสภาพอากาศในขณะนั้นด้วย
2. แผนที่ที่เครื่องรับสัญญาณจีพีเอสแต่ละเครื่องใช้งาน ซึ่งการใช้งานในอุปกรณ์บางเครื่อง แผนที่เหล่านี้จะไม่สามารถอัปเดตได้ จะเป็นค่าที่ตั้งมาจากโรงงาน ซึ่งแผนที่แบบนี้จะมีโอกาสผิดพลาดและคลาดเคลื่อนได้สูง เช่น หากบางพื้นที่มีการปิดถนน หรือตัดถนนเส้นใหม่เกิดขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ก็จะไม่ถูกอัปเดตไปยังตัวอุปกรณ์ หรือจะเป็นแผนที่ประเภทที่สามารถอัปเดตได้ก็จริง แต่ต้องมีการอัปเดตเองโดยผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนนี้อาจจะต้องเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบและอัปเดตค่าจากผู้ใช้งานเพิ่มเติมเข้าไปด้วย เพื่อติดตามและอัปเดตเวอร์ชันของแผนที่ในอุปกรณ์ให้ล่าสุดอยู่เสมอ และประเภทสุดท้ายคือประเภทที่สามารถอัปเดตได้ในตัวเองเมื่อมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต เช่น แอปพลิเคชันบนมือถืออย่าง Google Maps
และท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าแผนที่ของเครื่องรับสัญญาณจีพีเอสนั้น จะมีการอัปเดตอยู่เสมอ แต่ถ้าแผนที่นั่นมีความแม่นยำไม่เพียงพอ ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์เช่นการขับรถไปติดในอ่างเก็บน้ำภายในเขื่อนลำตะคองเช่นนี้ขึ้นได้อีก ซึ่งส่วนมากการจัดการอัปเดตข้อมูลต่างๆของแผนที่ภายในเครื่องมือเหล่านี้ จะจัดการโดยบริษัทเอกชนที่มาตรฐานและการทำงานแตกต่างกัน ทั้งการสำรวจพื้นที่จริงที่มากน้อยต่างกันไปของแต่ละบริษัท หรือจะเป็นการอัปเดตผ่านภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ความละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความผิดพลาดของระบบที่ยังสามารถเกิดขึ้นได้ แม้จะมีโอกาสน้อยแล้วด้วยการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีการตัดสินใจของผู้ขับขี่ที่เหมาะสมก็เป็นการควบคุมความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกขึ้นหนึ่ง
ข้อมูล: https://mgronline.com/